เตาเผาถ่านไม้ประสิทธิภาพสูง: โดยสาขาวิชาฟิสิกส์ ภาควิชาวิทยาศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชภัฏเลย
สาขาวิชาฟิสิกส์ ภาควิชาวิทยาศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชภัฏเลย ได้ร่วมทำโครงการแผนงานยุทธศาสตร์เสริมสร้างพลังทางสังคม : โครงการยุทธศาสตร์มหาวิทยาลัยราชภัฏ เพื่อการพัฒนาท้องถิ่น มหาวิทยาลัยราชภัฏเลย ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564
โดยโครงการ เสริมสร้างวิถีชุมชนด้วยพลังงานสะอาดจากวัตถุดิบในท้องถิ่น โดยมีผู้ช่วยศาสตราจารย์โสฬส ศรีหมื่นไวยเป็นหัวหน้าโครงการคณาจารย์และนักศึกษาสาขาวิชาฟิสิกส์เป็นคณะทำงาน นำองค์ความรู้ทางฟิสิกส์สร้างเตาเผาถ่านประสิทธิภาพสูงโดยช่างในชุมชนมอบให้กับกลุ่มชาวบ้านที่เข้าร่วมโครงการได้แก่ชาวบ้านในหมู่บ้านหนองขอนหมู่ 12 จำนวน 5 ครัวเรือน บ้านนายางใต้หมู่ 5 จำนวน 5 ครัวเรือน บ้านสงป่าเปือยหมู่ 6 จำนวน 5 ครัวเรือน บ้านทุ่งใหญ่หมู่ 1 จำนวน 5 ครัวเรือน ตำบลภูกระดึง บ้านนาโกหมู่6 จำนวน 5 ครัวเรือนบ้านทานตะวันหมู่ 11 จำนวน 5 ครัวเรือน ตำบลศรีฐาน อำเภอภูกระดึง จังหวัดเลยเข้าร่วมหมู่บ้านละ 1 กลุ่ม โดยชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในตำบลภูกระดึงและตำบลศรีฐาน เป็นชุมชนที่นักท่องเที่ยวในจังหวัดเลย จังหวัดใกล้เคียงและจากทั่วประเทศที่มาท่องเที่ยวที่อุทยานแห่งชาติภูกระดึงต้องเดินทางผ่านก่อนที่จะเดินทางขึ้นยอดภูกระดึง ประกอบอาชีพเกษตรกรรม รวมกลุ่มปลูกพืชหลากหลายชนิด และโดยเฉพาะไผ่เลี้ยง มีจำนวนครัวเรือนที่ปลูกไผ่เลี้ยงจำนวน 445 ครัวเรือน คิดเป็นพื้นที่เพาะปลูกไผ่เลี้ยง 1,667.91 ไร่ พื้นที่เก็บเกี่ยว 1,427.71 ไร่
เกษตรกรได้นำส่วนของหน่อไผ่มาจำหน่ายในรูปหน่อไม้สด และแปรรูปเป็นหน่อไม้ส้ม ส่วนของต้นไผ่ที่มีอายุมากได้ตัดทิ้ง ไม่ได้นำมาใช้ประโยชน์ บางส่วนนำไปทิ้งในลำธารน้ำทำให้เกิดผลกระทบกับสิ่งแวดล้อม กีดขวางทางน้ำไหลในฤดูฝน และผลผลิตทางการเกษตรผลิตออกมาเป็นปริมาณมาก ส่งผลกระทบกับราคาจำหน่ายและเกิดการเน่าเสีย
ดังนั้นสาขาวิชาฟิสิกส์ ภาควิชาวิทยาศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชภัฏเลย ได้นำองค์ความรู้ทางด้านฟิสิกส์ พลังงานและนวัตกรรม สร้างเตาเผาถ่าน ไปติดตั้งให้กับชาวบ้านใน 6 หมู่บ้านใน 2 ตำบล ได้นำไม้ไผ่ที่ทิ้งมาเผาถ่านในเตาเผาถ่านประสิทธิภาพสูง ถ่านไม้ไผ่ที่ได้มีค่าความร้อนสูง นำไปใช้ในครัวเรือนช่วยลดค่าใช้จ่ายสำหรับการซื้อแก๊สเชื้อเพลิงสำหรับประกอบอาหาร บางส่วนนำไปจำหน่ายทำให้มีรายได้เพิ่มเข้าสู่ครัวเรือนของเกษตรกร อีกทั้งเป็นการลดปัญหาผลกระทบกับสิ่งแวดล้อมและไม่กีดขวางทางน้ำไหล
ชาวบ้านในชุมชนรวมตัวก่อตั้งเป็นวิสาหกิจชุมชน เกิดความร่วมมือ สามัคคีและเกิดการสร้างงาน สร้างอาชีพในชุมชน ไม่ต้องเดินทางไปประกอบอาชีพยังต่างถิ่น ครอบครัวอบอุ่น มีความมั่นคง มีรายได้เพิ่มขึ้นทำให้มีความมั่งคั่งและชุมชนมีความยั่งยืนมีความร่วมมือจากทุกฝ่ายและหลากหลายหน่วยงาน